ความเป็นมา

มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นั้น ได้เริ่มจาก “คณะเพื่อน ๑๑” ได้มีการสนทนาปรารภถึงเรื่องเอกลักษณ์ของชาติในด้านวัฒนธรรมแห่งคุณงามความดี ที่คนไทย

ตั้งแต่โบราณยึดถือปฏิบัติเป็นค่านิยมในสังคมอย่างหนึ่ง โดยยกย่องเคารพนับถือบุคคลผู้ประกอบคุณงามความดี ที่ประพฤติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาเป็นเวลาช้านาน

แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมอันสูงส่งนี้เริ่มจะเจือจางลง ผู้ประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม มักจะถูกละเลย มิใคร่มีการยกย่องเชิดชูให้เกียรติยศปรากฏแก่สาธารณชนทั่วไป ฉะนั้น เพื่อส่งเสริมคนดีและดำรงวัฒนธรรมนี้ไว้ จึงสมควรที่จะหาทางส่งเสริมด้วยการยกย่องให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบคุณงามความดีเหล่านั้น ให้เป็นบุคคลตัวอย่าง ที่สาธารณชนทั้งหลายควรทราบ และพึงยึดถือเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมไทยมีค่านิยม ในการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากยิ่งขึ้น และจะได้นำความสงบสุขมาสู่สังคมไทย และประเทศชาติสืบต่อไป

เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ ซึ่งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในคณะเพื่อน ๑๑

จากเหตุดังกล่าว เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ ซึ่งเป็นสมาชิกผู้หนึ่งในคณะเพื่อน ๑๑ ได้เสนอความเห็นว่า ฯพณฯ รัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และจงรักภักดีตลอดมา สมควรที่จะยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่างได้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม คณะเพื่อน ๑๑ จึงควรจะได้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิขึ้น โดยขออนุญาตใช้นามของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นชื่อมูลนิธิ ซึ่งได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณธรรม ในด้านความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และจงรักภักดี โดยพิจารณาเลือกเฟ้นบุคคลที่มีคุณสมบัติและผลการปฏิบัติงานเข้าเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เป็นบุคคลตัวอย่างเพื่อรับ “รางวัล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งข้อเสนอนี้ บรรดาสมาชิกคณะเพื่อน ๑๑ ล้วนมีความเห็นชอบและสนับสนุน จากข้อเสนอดังกล่าว คณะเพื่อน ๑๑ จึงได้กราบเรียน ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อพิจารณาและได้กราบเรียนเชิญท่าน เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ ซึ่ง ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กรุณาเห็นชอบและอนุญาตให้ดำเนินการได้

โดยมอบหมายให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสพ รัตนากร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่ง ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน เป็นผู้ดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงตราสารและเปลี่ยนชื่อมูลนิธิ จาก “มูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมไทย” เป็น “มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ตั้งแต่วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ และมีการจัดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ เรียบร้อยเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยในระหว่างนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมี เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ เป็นประธาน ต่อมาศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสพ รัตนากร ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยมีกรรมการอำนวยการผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการต่างๆ รวม ๒๓ ท่าน และได้จัดตั้งสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษขึ้น ที่บ้านรับรองสี่เสาเทเวศร์ เลขที่ ๒๗๙ ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานอำนวยการ ตั้งอยู่ที่ ศาลาพำนัก มูลนิธิวิจัยประสาทฯ เลขที่ ๓๑๒ ถนนราชวิถี พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสพ รัตนากร
เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมวัฒนธรรมไทย

การดำเนินการของมูลนิธิฯ

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินสร้างหอสมุดแห่งชาติ ในภาคใต้ เช่นเดียวกับหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษกในภาคอื่น ขึ้นที่จังหวัดสงขลา โดยขอพระราชทานนามว่า “หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา” ซึ่งมูลนิธิรัฐบุรุษ ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรไปดำเนินการเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดอุลบเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี และได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยหอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลานี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดต่อกับบ้านศรัทธา ใกล้สะพานติณสูลานนท์ อันเป็นหอสมุดที่ทันสมัย สามารถใช้ประชุมร่วมกับนานาประเทศได้ด้วย

สำหรับกิจกรรมในเรื่องการสนับสนุนด้านการศึกษานั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิรัฐบุรุษ ได้ก่อตั้งมูลนิธิต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาไว้ตั้งแต่เมื่อยังรับราชการ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นจำนวนมากถึง ๒๓ มูลนิธิ กระจายตามอยู่สถาบันการศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งมูลนิธิเหล่านี้ ได้ดำเนินการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนเป็นประจำทุกปี ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ โดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนเพิ่มขึ้นอยู่เสมอๆ ซึ่งทำให้จำนวนทุนการศึกษาที่จะมอบให้แก่นักเรียนยากจน มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน อาคารเลขที่ ๘๔ ถนนอู่ทองนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร และในวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แทน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประสพ รัตนากร และได้มีการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิรัฐบุรุษ ที่ได้กำหนดไว้ ในหลากหลายกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดมา