พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ รัฐบุรุษ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ ๖ จากพี่น้องทั้งหมด ๘ คน จากครอบครัวพัสดีเรือนจำจังหวัดสงขลา

ชื่อ “เปรม” นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ตั้งให้

ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่บิดาของท่าน รองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) พะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ภายหลังบิดาของท่านได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวินิจทัณฑกรรม ถือศักดินา ๖๐๐ ไร่ สำหรับมารดานั้นคือ นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) โดยดั้งเดิมแล้ว บิดามารดาของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นชาวนครศรีธรรมราช ต่อมาได้มาตั้งรกรากรับราชการอยู่ที่ จังหวัดสงขลา มีบุตรธิดา ๘ คน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นบุตรคนที่ ๖

วัยเด็ก ความภูมิใจลูกน้ำเงิน – ขาว

เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ที่บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ ๖ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เริ่มต้นชีวิตการเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ตั้งแต่ ป.๑ – ม.๖ ตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ทำให้ท่านผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้มาก ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดสงขลา ท่านจะระลึกถึงสถานที่อยู่สองแห่ง แห่งแรกคือวัดดอนรัก ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด อีกแห่งหนึ่งก็คือโรงเรียนมหาวชิราวุธนั่นเอง

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เคยกล่าวถึงความรู้สึกต่อโรงเรียนแห่งนี้ว่า “ตั้งแต่เราเป็นเด็ก ๆ ได้อาศัยเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ ได้อาศัยบุญคุณของครูที่สอนหนังสือให้เราจนเติบโตขึ้นมา สามารถมีความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงบุญคุณของโรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่มีอยู่แล้วก็ใหญ่หลวงมาก เกินที่จะบรรยายให้ทราบได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร รู้อย่างเดียวว่าถ้าไม่มีโรงเรียนมหาวชิราวุธ แล้ว เราก็อาจจะไม่เป็นคนอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่ดี เป็นคนที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม เป็นคนที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อโรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้ปั้นให้เป็นคนดี และสามารถมีความรู้ สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาที่เราจะถือว่า โรงเรียนมหาวชิราวุธนี้ คือ พ่อแม่ทางวิชาการของเราตั้งแต่เกิดมา”

เริ่มชีวิตวัยรุ่น เข้ากรุงเทพฯ

บิดาของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะเห็นแก่ความก้าวหน้าในชีวิตต้องยอมขายทรัพย์สินเพื่อแลกกับโอกาสที่ดีในชีวิตของลูกชาย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จึงต้องจากสงขลา ขึ้นรถไฟจากสถานีหาดใหญ่ไปพร้อมพี่ชุบ (พี่ชายคนโต) นับว่าเก่งไม่น้อยเพราะท่านสามารถเข้าเรียน ม.๗ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่การใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ไม่ได้สวยหรูนัก ชีวิตที่กรุงเทพฯ ของท่านค่อนข้างลำบาก เนื่องจากบิดาได้ส่งเงินมาให้ใช้เพียงเดือนละ ๑๐ บาทเท่านั้น

นักเรียนนายร้อย เปรม ติณสูลานนท์

ความใฝ่ฝันของท่านคืออยากเป็นหมอ แต่การเรียนแพทย์ต้องใช้เงินเยอะ เพื่อนจึงแนะนำให้เข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (สมัยนั้นเรียกว่าโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก) พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้าศึกษาในโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก รุ่นที่ ๕ และเป็น ๑ ในจำนวน ๕๕ คนของรุ่น จากเดิมที่ตั้งใจจะรับราชการในเหล่าทหารปืนใหญ่ แต่เมื่อเกิดสงครามไปท่านจึงเปลี่ยนความตั้งใจไปรับราชการในเหล่าทหารม้า ระหว่างนั้นท่านก็ซึมซับถึงความมุ่งมาดปรารถนาของตนเองที่จะทำหน้าที่ให้สมกับที่เรียนมา กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะเรียนชั้นปีที่ ๓ ช่วงนั้นเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ประเทศต้องการกำลังทหาร จึงมีนโยบายให้นักเรียนนายร้อยออกรับราชการก่อนกำหนด เป็นอันว่า นักเรียนรุ่นที่ ๕ ของโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก ได้ลงภาคสนามจริงและเป็นรุ่นเดียวที่ออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่ยัง ติดตัว “ร” อยู่ คือยังมีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อยกันเลยทีเดียว

ชีวิตนายทหาร

แม้เรียนไม่จบ ๕ ปีตามหลักสูตร แต่ในสนามแห่งวิชาชีพกลับเต็มเปี่ยม พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ในวัย ๒๑ ปี เริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ปฏิบัติหน้าที่สมรภูมิปอยเปต ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ว่าที่ร้อยตรี” รับกระบี่ในสนามรบฝั่งปอยเปต เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘ เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หน่วยของท่านได้รับคำสั่งเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จังหวัดลำปาง แล้วย้ายไปขึ้นอยู่กับกองพล ๓ ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็น “ร้อยเอก” และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี ที่สุด เมื่อภารกิจราชการสงครามเสร็จสิ้นลง ท่านก็เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตามลำดับอย่างงดงามสมศักดิ์ศรี โดยได้รับพระราชทานยศ “พันตรี” ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สอบชิงทุนจากกองทัพบก ได้ศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School ที่ฟอร์ทนอกซ์ มลรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา เรียนจบปี พ.ศ. ๒๔๙๗ กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้าขึ้นที่จังหวัดสระบุรีในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ทั้งยังปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร จนกระทั่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ในวัย ๖๑ ปี เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีได้ต่ออายุราชการให้อีก ๑ ปี จากปี พ.ศ. ๒๕๒๓ หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก วันหนึ่งหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปพบและบอกว่าจะแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในปีถัดมา พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ก้าวขึ้นไปเป็น ผู้บัญชาการทหารบก

ก้าวสู่ทำเนียบรัฐบาล

๔๐ ปีในชีวิตราชการทหาร คาบเกี่ยวกับที่ได้ใช้ชีวิตบนถนนการเมือง นับจากวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๖ ของประเทศไทย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นนายกรัฐมนตรี ๓ สมัยภายในเวลา ๘ ปี ๕ เดือน มีคณะรัฐมนตรีถึง ๕ ชุด สิ่งนี้ย่อมสะท้อนความไม่ธรรมดาในทางการเมืองไทย หากที่ผ่านมา รัฐบุรุษผู้นี้ได้รับการยกย่องว่ามีผลงานสำคัญในช่วงที่บริหารประเทศ ทั้งนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจมาได้โดยใช้นโยบาย “นิยมไทย” หรือการใช้ “การเมืองนำการทหาร” ตามคำสั่ง ๖๖/๒๕๒๓ ในวิกฤติการเมือง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังในที่สุดตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนทุกแขนงได้กล่าวยกย่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ว่าเป็นผู้ที่มีแต่ความซื่อสัตย์สุจริต

ตำนานเพื่อนรักไม่มีชนชั้น

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง ลุงข้วย คุณลุงขับสามล้อ ซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์มาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านอยู่ติดกันจึงลอดรั้วมาเล่นกันทุกวัน ลุงข้วยเล่าให้ฟังว่า หลังจาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มักจะลงมาปฏิบัติภารกิจที่สงขลาบ่อย ๆ ตนคิดว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ คงจำไม่ได้แล้ว เพราะจากกันเป็นเวลาหลายปี ลุงข้วย เล่าว่า ระหว่างไปยืนรอรับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ลุงข้วยก็ทำตัวอย่างชาวบ้านธรรมดา คนหนึ่ง เมื่อท่านเดินผ่านมาและเห็น ท่านก็รีบตรงเข้ามาหา พร้อมกับทักทายด้วยภาษาถิ่นใต้และใช้คำเดิมๆ ที่เคยพูดคุยกันเหมือนสมัยยังเด็กๆ

สู่ตำแหน่งองคมนตรีและรัฐบุรุษ

หลังจากที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรับราชการทหาร จนถึงเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง ๘ ปี ๕ เดือน ได้ฝ่าฟันมรสุมทางการเมืองและต่อสู้กับความยากจนในชนบท ท่านกลายเป็นบุคคลของแผ่นดิน วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นองคมนตรี ต่อมาในวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้มีการประกาศยกย่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้เป็นรัฐบุรุษ ระหว่างนั้นท่านยังมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติการเมืองปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยท่านและนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ได้นำ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี, พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ จนเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ ๙ จนถึง วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงปัจจุบัน กระทั่งในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวัย ๙๘ ปี